หน้าแรก
โรงเรียนสายน้ำผึ้ง ในพระอุปถัมภ์ ฯ
กลุ่มสาระสังคมศึกษา ศาสนาและวัฒนธรรม
สารบัญ
ศาสนากับสังคม
กำเนิดศาสนา

            คนเราทุกวันนี้ไม่ค่อยสนใจ หรือ ไม่เข้าใจในเรื่องศาสนาเท่าที่ควร อันเนื่องมาจากปัญหาทางด้านเศรษฐกิจหรือสนใจความเจริญทางด้านวัตถุ
มัวแต่แข่งขันกันว่าใครจะร่ำรวยกว่ากัน หาหนทางที่จะทำให้ทุกคนยกย่องว่ามีชื่อเสียงทางด้านความร่ำรวยมีการโฆษณาหรือจัดอันดับความร่ำรวยทางเงินตราว่าใครจะมีรายได้มากกว่ากัน จัดอันดับความเป็นเศรษฐีของโลก ทำให้หลงลืมไปว่าวัตถุหรือเงินตราเป็นเรื่องที่มนุษย์สมมุติ ให้เป็นสิ่งที่มีค่า ที่ใช้แลกเปลี่ยนความต้องการ ทางด้านร่างกายเท่านั้น หาใช่สิ่งที่สร้างความสงบสุขหรือสันติของมนุษย์โลกอย่างแท้จริง จนมองข้าม ความต้องการทางด้านจิตใจอันแท้จริงของตัวเองไป เป็นเหตุให้มนุษย์โลกทั้งหลาย
ไม่เห็นความสำคัญของ “ศาสนา”  ผู้สนใจศาสนากลายเป็นบุคคลที่ล้าสมัย บางคนดูถูกผู้ที่เคร่งครัด ในการปฏิบัติตามคำสอนทางศาสนากล่าวหาว่า
เป็นพวกล้าหลัง คร่ำครึ ไม่ทันโลก ศาสนาเป็นสิ่งที่ไม่จำเป็นต่อการดำเนินชีวิต เพราะพวกเขาเหล่านั้นคิดว่า คนเราต้องการเพียงปัจจัยที่ตอบสนองความต้องการทางด้านร่างกายเท่านั้น
ชีวิตก็มีความสุขแล้ว ไม่จำเป็นต้องสนใจศาสนาให้ยุ่งยาก ส่วนผู้ที่พอมีความรู้อยู่บ้างก็สนใจเพียงเพื่อบอกว่าเขาก็มีศาสนานับถือนะ รู้หลักคำสอนเพียงเล็กน้อย
หรือไม่สามารถอธิบายให้ผู้ที่นับถือศาสนาอื่นเข้าใจได้ว่าทำไมตัวเองจึงนับถือศาสนานั้น หรือ นับถือตามบรรพบุรุษ หรือ มีการลงทะเบียนไว้ในทะเบียนราษฎร์ว่านับถือศาสนาอะไร
แต่ตัวเองไม่รู้ว่าศาสนาที่ตนเองนับถือ มีความเป็นมาอย่างไร หรือเขาทำอะไรกันในศาสนานั้น แล้วทำไปทำไมก็ไม่รู้ การได้กินอิ่มมีที่อยู่อาศัย มีเสื้อผ้าสวมใส่และมียารักรักษาโรค
ตามหลักปัจจัย 4 เพียงพอกับความต้องการของเราจริงหรือ? การตอบสนองทางด้านจิตใจมีสิ่งใดจะช่วยได้ถ้าเราว้าวุ่น หงุดหงิด ไม่พอใจ มีความวิตกกังวล ความอิจฉา
จะมีสิ่งใดช่วยได้ เพราะสิ่งที่กล่าวมานี้เป็นความต้องการการตอบสนองทางจิตใจ ถ้าพิจารณาให้ดีความต้องการทางจิตใจนั้นสำคัญ ถ้าจิตใจดีทุกสิ่งก็ดีตามแต่ถ้าจิตใจเสื่อม ก็จะทำให้ทุกสิ่งเสียหาย เพราะจิตใจเป็นสิ่งที่พาให้กายทำตาม
มนุษย์เรารักความสุข ไม่ชอบความทุกข์ สิ่งที่สามารถแก้ทุกข์ได้ก็คือ ศาสนา แล้ว ศาสนาเกิดขึ้นได้อย่างไร
มูลเหตุที่ทำให้เกิดศาสนา มี 3 ประการ
1. เกิดจากความกลัว
2. เกิดจากการปราศจากความรู้
3. เกิดจากความต้องการผลตอบสนองของมนุษย์
            ความกลัวแรกเริ่มของมนุษย์ก็คือ กลัวภัยธรรมชาติ พายุ ฟ้าร้อง ฟ้าผ่า น้ำท่วม แผ่นดินไหว เมื่อมนุษย์เห็นว่า
สิ่งเหล่านี้เป็นอันตรายต่อตน ประกอบกับการปราศจากความรู้ทางด้านวิทยาศาสตร์ ภูมิศาสตร์ และศาสตร์อื่น ๆ
จึงเข้าใจว่าปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นเป็นสิ่งที่อยู่เหนือธรรมชาติ เช่น พวกผี ปีศาจหรือสิ่งศักดิ์สิทธิ์ต่าง ๆ เป็นผู้บันดาล
ให้เกิดขึ้น ยกตัวอย่าง ชาวอินเดียเห็นเทือกเขาหิมาลัยสูงเสียดฟ้าไม่สามารถขึ้นไปถึง มีแม่น้ำคงคาไหลลงมา
จากเทือกเขาก็คิดว่าเทือกเขาหิมาลัยเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์เป็นสวรรค์ มีเทพเจ้าสิงสถิตอยู่ ซึ่งจะบันดาลให้ชาวอินเดีย
เกิดความสุขหรือมีความทุกข์ได้ สามัญสำนึกหรือสัญชาตญาณของมนุษย์ต้องการผลตอบสนองแต่สิ่งที่ดี จึงคิดว่า
ถ้ามนุษย์เรา เซ่นสรวงบูชาสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ทำให้เทพเจ้าเกิดความพอใจแล้ว ก็จะบันดาลให้ได้รับความสุข ความอุดมสมบูรณ์
ในชีวิตก็ตามมา ทำนองเดียวกับชาวอียิปต์ที่อาศัยอยู่ในทวีปอัฟริกาเห็น แม่น้ำไนล์ไหลมานำความสมบูรณ์มาให้
หรือน้ำท่วมทำให้เกิดความทุกข์ ก็คิดว่าน่าจะมีเทพเจ้าบันดาลให้เป็นเช่นนั้น หรือชาวอินคาในทวีปอเมริกาใต้
ก็มีการบูชาเทพเจ้าเพื่อต้องการผลตอบสนองให้มีความสมบูรณ์เหมือนกัน การนับถือศาสนาก็เริ่มเป็นรูปเป็นร่างขึ้น
มีการกำหนดตัวบุคคลหรือเทพเจ้าเข้ามาเกี่ยวข้องเด่นชัดขึ้น ชาวอียิปต์มีการบูชาเทพเจ้าแห่งดวงอาทิตย์ที่เรียกว่า รา หรือ เอตัน ชาวอินคาบูชาเทพเจ้าแห่งดวงอาทิตย์ อินติและบูชาเทพเจ้าแห่งผืนดิน ปาชามามา ส่วนในอินเดีย มีการตั้งชื่อเทพเจ้ามากมายที่สำคัญ ได้แก่ พระพรหม พระศิวะ พระนารายณ์ พระธรณี พระคงคา พระอัคนี พระพาย ฯลฯ กลายเป็นความเชื่อศาสนาพราหมณ์- ฮินดู
           อย่างไรก็ตามมนุษย์ได้เรียนรู้เรื่องราวของชีวิตจากเหตุการณ์ต่าง ๆ โดยอาศัยประสบการณ์ บางอย่างก็ลังเลสงสัย อาทิแม้จะบนบานศาลกล่าวเทพยดาเพียงใดก็ตาม ยังไม่ได้สิ่งที่ตนเองต้องการยังมีความทุกข์ยาก ยิ่งมีกฎระเบียบและพิธีการบีบรัดให้ต้องปฏิบัติต่อเทพเจ้ามากขึ้นยิ่งทำให้มนุษย์ต้องการติดต่อกับเทพเจ้าโดยตรง โดยเข้าป่าหาที่สงบ แสวงหาความวิเวก และต้องการพ้นทุกข์ด้วยตัวเอง จึงกระทำตนเป็น มุนี โยคี หรือ ฤๅษี ได้แนวความคิดจึงนำมาสอนให้คนปฏิบัติโดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อให้พ้นทุกข์เป็นสำคัญ ต่อมาศาสนาได้วิวัฒนาการเรื่อยมาตามลำดับ มนุษย์เริ่มคิดว่าแม้จะประพฤติปฏิบัติตามหลักศีลธรรมก็ยังไม่สิ้นทุกข์อย่างแท้จริง มนุษย์ยังมีความกลัวลึก ๆ อยู่คือ กลัวความแก่ ความเจ็บ ความตาย ทั้งนี้เพราะมนุษย์อยากมีอายุยืนยาว มีความสุขโดยไม่มีความทุกข์ตลอดกาล และเห็นว่าความเห็นแก่ตัวนั่นเองที่นำความทุกข์มาให้ ทำอย่างไรจะละความเห็นแก่ตัวนั้นได้ ผู้มีปัญญาจึงแสวงหาทาง ที่จะละความเห็นแก่ตัวเสีย พระศาสดาจึงอุบัติขึ้นบนโลกเพื่อชี้แนวทางนั้น ๆ เพื่อชีวิตจะได้พบความสุขที่แท้จริง
จากเรื่องราวที่กล่าวมา พอที่จะสรุปความเป็นมาของศาสนาได้ว่า ศาสนา คือระบบปฏิบัติเพื่อให้รอดพ้นจากความทุกข์ หรือ ที่พึ่งทางใจของมนุษย์ หรือคำสั่งสอนของพระศาสดา พระศาสดาทุกพระองค์มีหลักคำสอนในการดำเนินชีวิตให้มีความสุข คำสอนที่เป็นความจริงสูงสุดของชีวิตที่จะช่วยให้มนุษย์สามารถเอาชนะความทุกข์ทุกสิ่งทุกอย่างที่เกิดขึ้นกับตนเอง ได้ถูกนำมาเผยแผ่แก่ปวงชนเมื่อมีผู้เลื่อมใสก็พากันนับถือปฏิบัติตามกันต่อ ๆ มาจนกลายเป็นประเพณีและศาสนาขึ้น เมื่อศาสนาเกิดขึ้นจากการที่มนุษย์มีความกลัว ต้องการที่พึ่งทางใจต้องการจะพ้นทุกข์ มนุษย์ต้องปฏิบัติตามแนวความเชื่อของตนเองว่าจะมีทางที่ทำให้พ้นทุกข์ได้ ก็จะปฏิบัติตามทางที่ตนเองเชื่อและศรัทธา เมื่อมนุษย์หันเหออกจากศาสนาออกนอกเส้นทาง สังคมมนุษย์ก็จะเกิดความเดือนร้อนเกิดความวุ่นวายและมีเหตุการณ์รุ่นแรงเกิดขึ้น พระศาสดาพระองค์ใหม่ก็จะอุบัติขึ้น เพื่อประกาศแนวทางการอยู่ร่วมกันอย่างสันติสุข โดยศึกษาได้จากประวัติศาสตร์โลก ซึ่งพอจะสรุปได้พอสังเขปดังนี้
           ศาสนาที่เกิดขึ้นในประเทศอินเดียประมาณ 1,000 ปีก่อนสมัยพุทธกาลคือศาสนาพราหมณ์ ซึ่งกล่าวกันว่าเป็นศาสนาที่เก่าแก่ที่สุดและมีอิทธิพลต่อชาวอินเดียมาช้านาน ต่อมาก็เกิดศาสนาพุทธ โดยเจ้าชายสิทธัตถะ ในสมัยเดียวกันนี้ก็มีพระมหาวีระผู้ให้กำเนินศาสนาเชน ในเขตประเทศจีน เล่าจื้อ ก็ประกาศศาสนาเต๋า และขงจื้อก็ประกาศคำสอนของตน ส่วนในประเทศญี่ปุ่นก็มีการนับถือศาสนาชินโต จากนั้น 500 ปีหลังพุทธกาล พระเยซูก็ประกาศศาสนาคริสต์ ในดินแดนปาเลสไตน์ 500 ปีต่อมา พระนบีมุหะหมัด ได้ประกาศศาสนาอิสลามขึ้น ในประเทศซาอุดิอาระเบีย ต่อมาประมาณ คริสตศตวรรษที่ 15 ท่านคุรุนานัก ก็ได้รวบรวมคำสอนของศาสนาอิสลามและฮินดูขึ้นประกาศเป็นศาสนาสิกข์ ข้อสังเกต ศาสนาที่กล่าวมานี้ส่วนใหญ่เกิดขึ้นในดินแดนทางซีกโลกตะวันออก อาจกล่าวได้ว่าเป็นดินแดนที่มีความเจริญทางด้านจิตใจ หลักคำสอนของพระศาสดาทุกพระองค์เปรียบเสมือนแสงสว่างที่จะนำทาง ให้มนุษย์ได้ก้าวเดินไป ผู้ใดไม่มีแสงสว่างผู้นั้นก็จะอยู่ในความมืด จมอยู่ในความทุกข์ต่อไป เมื่อเป็นเช่นนี้ศาสนาจะอยู่คู่กับมนุษย์ตลอดไปตราบที่สังคมของมนุษย์ยัง มีความเห็นแก่ตัว มีปัญหา มีความสับสนวุ่นวาย ศาสนาของพระศาสดาก็จะเกิดขึ้นอยู่คู่กับมนุษย์ต่อไป

Copyright By : Chalengsak Chuaorrawan Sainampeung School
186 Sukhumwit 22 Sukhumwit RD Khlongtoeay Khlongtoeay Bangkok Thailand
e-mail address : chalengsak.ch@hotmail.com
Tel; 089-200-7752 mobile
http://www.sainampeung.ac.th